Articles

“นอน-นั่ง” อย่างไรไม่ทำให้ปวดหลัง


อาจกล่าวได้ว่า อาการปวดหลัง ปวดคอ หรือปวดเอวเป็นอาการที่หลายๆ บ้านมักบ่นโอ๊ยๆ กันมากหลังจากตื่นนอน หรือนั่งทำงาน โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ชาวออฟฟิศที่นั่งอยู่กับเอกสาร และหน้าจอคอมพ์เป็นเวลานานๆ หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นปัญหาสุขภาพในระยะยาวตามมาได้

วันนี้มีคำแนะนำดีๆ จาก ดร.เจฟฟรี สว๊อป อีกหนึ่งนักไคโรแพรคเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท การดูแลกระดูกสันหลัง และข้อ ที่ให้ความรู้ว่า ท่านอนถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากนอนไม่ถูกท่า อาจนำมาซึ่งอาการปวดหลัง ปวดคอได้ ซึ่งท่านอนที่ดีที่สุดนั้น คือท่านอนหงาย เพราะจะทำให้หลับลึก และเป็นท่าที่รองรับกระดูกสันหลังได้เป็นอย่างดี ส่วนหมอนที่นอนควรจะมีลักษณะเตี้ย หรือเป็นหมอนที่รองรับกับศีรษะและคอได้อย่างพอดี ควรเป็นหมอนที่เป็นแอ่ง โค้งเว้า

ส่วนท่านอนที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ท่านอนคว่ำ เพราะเวลาที่เรานอนคว่ำ ท่านี้จะบังคับให้เราต้องบิดลำคอไปด้านใดด้านหนึ่งเสมอ ซึ่งจะทำให้กระดูกสันหลังบริเวณคอเกิดความตึง เพราะถูกบิดจากท่านอนที่ไม่ถูกต้องทั้งคืน อาจทำให้เกิดอาการล๊อคหรือเรียกว่า “คอตกหมอน” ได้

“การที่คอตกหมอน เวลาตื่นขึ้นมาจะรู้สึกเมื่อยคอ หรือคอเคล็ด หากเป็นเช่นนี้นาน ๆ ก็จะทำให้เกิดการสะสมส่งผลให้ข้อกระดูกกดทับเส้นประสาทได้ ซึ่งอาจจะส่งผลกับข้อต่อของกระดูกสันหลัง ทำให้มีอาการปวดคอ ปวดศีรษะ มีอาการมึนงง และข้อต่อกระดูกเสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย” ไคโรแพรคเตอร์อธิบาย

นอกจากนั้นแล้ว ดร.เจฟฟรี กล่าวต่อไปว่า วัสดุที่นอนก็มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่ออาการปวดเมื่อยต่างๆ ได้ สำหรับเตียงนอนที่เหมาะกับสุขภาพนั้นควรเป็นที่นอน หรือฟูกที่มีความหนานุ่มในระดับที่เหมาะสม คือไม่แข็งหรือนุ่มจนเกินไป เพราะถ้าฟูกนุ่มเกินไป จะทำให้ตัวจมลงไปในแอ่งของฟูก ส่งผลต่อกระดูกสันหลังที่ถูกบีบอัดเข้าหากัน ขณะเดียวกันถ้าหากฟูกหรือที่นอนมีความแข็งมากจนเกินไปก็จะทำให้กระดูกสันหลังตรงเกินไป ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังตึง และเครียดได้

“กระดูกสันหลังก็เป็นเหมือนสายกีตาร์ ที่ยิ่งตึงมากเท่าใดโน้ตก็สูงขึ้นเท่านั้น ระบบประสาทของคนเราก็มีความตึงเช่นกัน และเมื่อกระดูกสันหลังแน่นตึงขึ้น ในส่วนโค้งของกระดูกสันหลังนั้นจะมีข้อกระดูกที่อ่อนแอที่สุดจะถูกผลักดันออกจากตำแหน่งปรกติของมัน ซึ่งเช่นเดียวกับโน๊ตเสียงแหลม ๆ ที่ออกมาจากสายที่ถูกขึงจนตึงเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้” ไคโรแพรคเตอร์กล่าวเสริม

 

นั่่งอย่างไรไม่ให้ปวดหลัง

 

นั่งแบบใดช่วยลดอาการปวดหลัง

อย่างไรก็ดี นอกจากการนอนแล้ว “การนั่งผิดท่า” หรือนั่งเก้าอี้ที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดคอได้เช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันคอมพิวเตอร์ทำให้โลกเราเปลี่ยนไปมาก บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกอ่อนเพลียง่าย อ่อนล้า หมดแรง มีอาการชาบริเวณแขน และมือ ซึ่งจะส่งผลต่อเอ็นข้อมือ รวมทั้งมีอาการปวดหัว ปวดต้นคอ และปวดหลังได้

ดังนั้นท่าที่ถูกต้องในการนั่งหรือใช้คอมพิวเตอร์ทั้งที่ทำงาน และที่บ้าน ไคโรแพรคเตอร์ท่านนี้ มีข้อแนะนำสำหรับการนั่งที่ถูกต้องเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง 5 ข้อดังนี้

1. ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีส่วนที่หนุนหรือรองรับกับกระดูกสันหลัง หรือมีพนักพิงข้างหลัง การนั่งพิมพ์งานหลังควรตรง ข้อศอกตั้งฉาก 90 องศา

2. ควรนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิง โดยมีความกว้างและลึกที่ทำให้ผู้นั่ง นั่งให้หลังชนเก้าอี้ได้ โดยที่เท้าสัมผัสกับพื้น หากไม่สามารถนั่งเช่นนี้ได้ให้หาที่วางขาให้เข่าอยู่ในลักษณะเท่ากัน และวางเมาส์ไว้ใกล้ตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องเอื้อมไปจับ พัก 1-2 นาที ทุกๆ 20-30 นาที ลุกขึ้นและผ่อนคลาย

3. พยายามนั่งให้หลังชิดพนักเก้าอี้ทุกครั้ง ไม่ควรนั่งจมลงไปในเก้าอี้ เพราะจะทำให้หลังงอได้

4. หากต้องอ่านหนังสือ หรือ เอกสาร และพบว่าเก้าอี้อยู่สูงกว่าวัตถุ ควรหาแฟ้มเอกสาร หรือกล่องมารองหนังสือเพื่อให้หนังสืออยู่ระดับเดียวกับสายตา เพราะถ้าหากอยู่ต่ำกว่าสายตาก็จะทำให้เวลาอ่านต้องมองขึ้นมองลง อาจทำให้เกิดอาการปวดที่คอและหลังท่อนบนได้

5. ไม่ควรนั่งเก้าอี้ที่มีพนักเก้าอี้ใหญ่มากเกินไป เพราะจะทำให้ต้องเขยิบเข้าไปนั่งกลางเก้าอี้ ทำให้ขาไม่ได้รับน้ำหนัก อาจทำให้ปวดหลังได้ สำหรับพนักเก้าอี้ที่เหมาะสมจะต้องทำให้หลังสามารถพิงพนักเก้าอี้ได้ และทำให้รู้สึกสบาย ไม่ทำให้หลังโค้งงอมากเกินไป ถ้าหากใครเป็นคนตัวสูง ให้หาเบาะรองนั่งมารองเพราะว่าจะช่วยรับน้ำหนักที่ขาได้มากขึ้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สสส

Comments are closed.