Articles

โรคไข้เลือดออก

ยุงลาย

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ยุงลายจะได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่จากผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกและแพร่ไปสู่ผู้ป่วยคนอื่นๆ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่ ส่วนมากจะเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี โรคนี้จะระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝน หรือช่วงเดือนพฤษภาคมถึง เดือนกันยายน ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น เชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ (Serotype) คือ DEN1, DEN2, DEN3, DEN4 การติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งในครั้งแรก เรียกว่า การติดเชื้อปฐมภูมิ (Primary infection) อาจไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง อีกทั้งมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ที่เป็น คือประมาณ 6-12 เดือน ส่วนการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่เหลือในครั้งต่อไป เรียกว่าการติดเชื้อทุติยภูมิ (Secondary infection) มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนสูง

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลาย Aedes Aegypti ตัวเมีย บินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกโดยเฉพาะ ช่วงที่มีไข้สูง เชื้อไวรัสแดงกี Dengue Virus จะเพิ่มจำนวนในตัวยุงประมาณ 8-10 วัน เชื้อไวรัสแดงกี่จะไปที่ผนังกระเพาะและ ต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงกัดคนก็จะแพร่เชื้อสู่คน เชื้อจะอยู่ในร่างกายคนประมาณ 2-7 วันในช่วงที่มีไข้ หากยุงกัดคนในช่วงนี้ก็จะรับเชื้อไวรัสมาแพร่ให้กับคนอื่น ยุงลายจะออกหากินในตอนกลางวัน มักหลบซ่อนตัวในที่มืด อาศัยและวางไข่ทั่วไปในชุมชน แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายจะอยู่ตามโอ่งน้ำ ภาชนะกักเก็บน้ำในห้องน้ำ จานรองกระถางต้นไม้ ยาง รถยนต์เก่า กระป๋อง กะลา เป็นต้น

การวินิจฉัย

ส่วนใหญ่มักวินิจฉัยจากอาการ อาการที่เป็นรูปแบบเฉพาะคือการมีไข้สูงโดยไม่ปรากฏตำแหน่งที่ทำให้เกิดไข้ชัดเจน มีผื่นขึ้น มีเกล็ดเลือดต่ำ และเม็ดเลือดขาวต่ำ ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษเพื่อแยกจากโรคตับระยะสุดท้ายเนื่องจากมีลักษณะคล้ายกัน

นิยามของโรคไข้เลือดออกโดยองค์การอนามัยโลกนั้นใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 โดยต้องมีลักษณะครบทั้ง 4 ประการ

  • มีไข้ มีปัญหาทางกระเพาะปัสสาวะ ปวดศีรษะเรื้อรัง มึนงงอย่างมาก และเบื่ออาหาร
  • มีแนวโน้มจะมีเลือดออก (ทูนิเกต์เทสท์ให้ผลบวก มีจ้ำขึ้นเอง มีเลือดออกทางเยื่อบุ เหงือก แผลเจาะ ฯลฯ อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด)
  • เกล็ดเลือดต่ำ (น้อยกว่า 100,000 ตัวต่อหนึ่งไมโครลิตร หรือประมาณน้อยกว่า 3 ตัว ต่อหนึ่งมุมมองกล้องกำลังขยายสูง)
  • ปรากฏหลักฐานของการเสียพลาสมาจากหลอดเลือด (ความเข้มข้นเม็ดเลือดแดงสูงกว่าที่ประมาณไว้มากกว่าร้อยละ 20 หรือลดลงเกินกว่าร้อยละ 20 ปรากฏมีของเหลวในเยื่อหุ้มปอด มีของเหลวในช่องท้อง หรือมีโปรตีนต่ำในกระแสเลือด)
  • มีภาวะสมองอักเสบ

อาการของไข้เลือดออกไม่จำเพาะ อาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น ในผู้ใหญ่อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่รีบรักษา ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อคและอาจเสียชีวิต

ระยะไข้สูง
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อย่างเฉียบพลัน เป็นเวลา 2-7 วัน บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ไม่มีน้ำมูกหรือไอ เบื่ออาหาร อาเจียน ตับโต กดเจ็บ มีผื่นตามตัว มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามผิวหนัง ลำตัว แขน ขา รักแร้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะหรือการทำ Tourniquet test จะพบจุดเลือดออก และให้ผลบวก อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายเป็นสีดำ

ระยะวิกฤติ (ระยะช็อคและเลือดออก)
อาการทรุดลงเข้าสู่ภาวะช็อคเมื่อไข้ลดลงกระทันหัน (ประมาณวันที่ 3-6 ของโรค) ผู้ป่วยจะมีมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ อาเจียนมาก ปวดท้อง บางรายซึมมากขึ้น ปัสสาวะน้อย อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ถ้าให้การรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 12-24 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนและได้รับการรักษาทันและถูกต้องระยะนี้จะกินเวลา 24-48 ชัวโมง แล้วเข้าสู่ระยะฟื้นตัวของร่างกาย จะเริ่มรู้สึกอยากอาหาร ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้ป่วยพ้นระยะอันตราย

ระยะฟื้น
อาการทั่วไปดีขึ้น ความดันโลหิตและชีพจรกลับเป็นปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น ตับที่โตจะลดขนาดลงภายใน 1-2 สัปดาห์ เริ่มรับประทานอาหารได้ มักมีผื่นแดงที่ขา ปลายมือปลายเท้าและมีอาการคัน

ลักษณะสำคัญของไข้เลือดออกคือ

  • ไข้สูงเฉียบพลัน ประมาณ 2-7 วัน
  • เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
  • บางรายอาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีกำเดาออก หรือเลือดออกตามไรฟัน และถ่ายอุจาระดำเนื่องจากเลือดออก และอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้
  • ในรายที่ช็อคจะสังเกตได้จากการที่ไข้ลดแต่ผู้ป่วยซึมลง ตัวเย็น หมดสติและเสียชีวิตได้

การรักษา

  1. ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ
  2. เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก
  3. ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล “ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน” เพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย
  4. ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มทีละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ
  5. ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย
  6. เมื่อสงสัยว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอย เกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จะทำให้ลดการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้

เมื่อไรจะให้กลับบ้าน

1. ไม่มีไข้ 24 ชั่วโมงโดยที่ไม่ได้รับยาลดไข้  และผู้ป่วยอยากอาหาร
2. ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน
3. ความเข้มของเลือดคงที่
4. 3 วันหลังจากรักษาภาวะช็อค
5. เกร็ดเลือดมากกว่า 100000
6. ไม่มีอาการแน่ท้องหรือแน่หน้าอกจากน้ำในท้องหรือช่องเยื่อหุ้มปอด

วิธีป้องกัน

  • พยายามไม่ให้ยุงกัด
  • ปราบและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งชอบวางไข่ในน้ำสะอาดที่อยู่นิ่งๆ ตามภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขัง
  • ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือดทำให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้
  • รายงานคนไข้ไปที่โรงพยาบาลหรือสาธารณสุขจังหวัด เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการกำจัดยุงบริเวณนั้นและควบคุมโรคก่อนที่จะมีการระบาดเพิ่ม

การพัฒนาวัคซีนและยา

ยังไม่มีวัคซีนสำหรับไวรัสเดงกี่ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกจำหน่ายในตลาด เนื่องจากยังอยู่ในขั้นการทดลองและพัฒนาอยู่ การเร่งพัฒนาวัคซีนอย่างจริงจังนั้นเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 สำหรับประเทศไทย ได้มีการทดสอบวัคซีนไวรัสไข้เลือดออกในอาสาสมัครจำนวน 3,000-5,000 คน หลังจากประสบความสำเร็จในการทดสอบในสัตว์และอาสาสมัครกลุ่มเล็ก และขณะนี้วัคซีนที่ถูกเลือกได้เข้าสู่การทดสอบระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แล้ว ปัญหาสำคัญของการพัฒนาวัคซีนคือการที่ไวรัสมีจำนวนสายพันธุ์ถึง 4 สายพันธุ์ ทำให้วัคซีนที่พัฒนาออกมาต้องยับยั้งได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ อีกทั้งกลไกการติดเชื้อของไข้เลือดออกนั้นยังมีความซับซ้อน

อ้างอิงข้อมูลจาก
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพโรงพยาบาลปิยเวช โรงพยาบาลพญาไท
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

Comments are closed.