Articles

17 มาตรการ ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ช่วงน้ำท่วม

กล่องยาสามัญประจำบ้าน

ในช่วงที่ประชาชนทั้งหลายต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ แน่นอนว่าทุก ๆ คนล้วนประสบปัญหากันอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนเครื่องอุปโภคและบริโภค ที่อยู่อาศัยพังเสียหาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บซึ่งตามมากับน้ำท่วมมากมาย อาทิ น้ำกัดเท้า อุจจาระร่วง ไข้ฉี่หนู ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมทั้งอันตรายจากภัยอื่น ๆ ทางน้ำ เช่น การตกจมน้ำ ไฟฟ้าช็อต สัตว์มีพิษอันตราย ฯลฯ

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินชีวิตในช่วงน้ำท่วมของผู้ประสบภัยและประชาชนที่เดือดร้อนกับภาวะน้ำท่วมเป็นไปด้วยความปลอดภัย เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ ได้แนะนำมาตรการจำเป็น 17 ประการ เพื่อเป็นการป้องกันโรคและภัยจากน้ำท่วมให้กับประชาชน ดังนี้

1) หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ควรเตรียมตัวอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม หรือนำอุปกรณ์ประยุกต์ที่หาง่ายติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา

2) ให้ระวังเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดพาหรือตกลงในบ่อน้ำลึกได้

3) อย่าพยามยามวิ่งหรือขับรถผ่านในที่มีน้ำไหลเชี่ยว

4) ควรงดการดื่มสุรา เนื่องจากทำให้ทรงตัวไม่ดีเพิ่มโอกาสลื่นล้ม พลัดตกจมน้ำ หรืองดตัดสินใจทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น กระโดดจากสะพานลงเล่นน้ำ เป็นต้น

5) ให้ตัดสวิตซ์กระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดหรือช็อต ขณะเกิดน้ำท่วมขัง

6) เก็บของมีค่าและจำเป็นขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม

7) จัดเตรียมของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น น้ำดื่ม ไฟฉาย ยารักษาโรคพื้นฐาน ยาโรคประจำตัว และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่น ๆ

8) อาหารกล่องที่ได้รับแจก ควรรับประทานทันทีอย่าเก็บไว้ เพราะจะทำให้อาหารบูด เน่าเสีย อาหารเป็นพิษได้ หากมีเหลือควรสิ้งใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุง

9) ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังออกจากห้องน้ำ ห้องส้วมทุกครั้ง

10) ไม่ควรใช้มือขยี้ตาอาจทำให้ตาติดเชื้อและอาจเสี่ยงเป็นโรคตาแดงได้

11) ในกรณีที่มีบาดแผล ไม่ควรเดินลุยย่ำน้ำ ย่ำโคลน ควรใส่รองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกยาวป้องกันเท้าและสวมทับด้วยถุงเท้าและ รองเท้า แต่หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ย่ำน้ำเสร็จแล้วควรทำความสะอาดเท้าและแผลแล้วเช็ดให้แห้ง

12) กรณีมีสัตว์ป่วยตาย ให้ใส่ถุงพลาสติกแล้วผูกให้มิดชิด หรือนำไปฝัง เผา ไม่ควรนำทิ้งลงน้ำอาจทำให้แพร่เชื้อในกระแสน้ำเกิดโรคระบาดได้

13) ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงมาอยู่ใกล้ชิดเพราะอาจติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้

14) สำรวจภาชนะที่มีน้ำขังให้คว่ำไว้ เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายพาหนะโรคไข้เลือดออก

15) ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสมอ และดื่มน้ำสะอาด

16) ทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้มิดชิดห้ามทิ้งลงน้ำ

17) ให้ระมัดระวังสัตว์มีพิษ กัด ต่อย พร้อมทั้งหมั่นสำรวจตรวจตราบ้าน กองผ้า ถุงใส่ของ เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษหลบเข้าไปอยู่อาศัยใกล้ตัว

 

ขอบคุณ
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ