Articles

โรคฮิตของเด็กในหน้าฝน

 

เด็กป่วย

 

ในช่วงหน้าฝนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ถูกฝนแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยไม่สบายได้ ในครั้งนี้จะพูดถึงเฉพาะอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่พบได้บ่อยในเด็กในช่วงหน้าฝน ซึ่งพบว่า โรคฮิตของเด็กในช่วงหน้าฝน ได้แก่

 

โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดใหญ่พบได้เกือบทั้งปี เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่จะเป็นมากในช่วงหน้าฝน ซึ่งบางปีอาจจะพบการระบาด ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน อาการหลักๆ คือ เด็กจะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอ หรือเจ็บคอ ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดประมาณ 1-2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโลกในทุกๆ ปี และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป การป้องกันที่ดีที่สุด คือ คนป่วยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น รวมถึงใส่หน้ากาก ล้างมือ และรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย จะเป็นการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

โรคมือเท้าปาก โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงหน้าฝน สำหรับกลุ่มอาการของโรค เด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี (อนุบาลถึงประถม) อาการมักหายได้เองภายใน 3-10 วัน ติดต่อทางการไอ จาม น้ำลาย หรืออุจจาระ มีระยะฟักตัว 3-6 วัน พบเชื้อทางน้ำลาย 2-3 วันก่อนมีอาการ จนถึง 1-2 สัปดาห์หลังมีอาการ (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้ https://www.tigerdragon.in.th/?p=1545)

ในขณะที่มีอาการ เด็กบางคนจะรับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ เพราะมีอาการเจ็บปากมาก ซึ่งแม้แต่น้ำลายก็ไม่ยอมกลืน ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นอย่าให้เด็กมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจจะชักได้ บางรายอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น สมองอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการ เมื่อพบความผิดปกติต้องรีบพามาพบแพทย์ทันที
สำหรับการป้องกัน ผู้ปกครองควรดูแลลูกในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด และควรมีกระติกน้ำหรือแก้วน้ำส่วนตัวให้ลูกไปใช้ที่โรงเรียน รวมถึงปลูกฝังและฝึกให้ลูกใช้ช้อนกลางขณะรับประทานอาหารทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือที่บ้านก็ตาม


โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ถ้าได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง โรคนี้ระบาดได้ทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าฝน เพราะโอกาสที่น้ำจะขังมีได้มาก เพราะฉะนั้นอาการที่ให้สงสัยว่าลูกของคุณอาจจะเป็นไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงมาก กินยาลดไข้เท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล ปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว มีอาการตาแดง หน้าแดง และปากแดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้คนไข้มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะตรงบริเวณชายโครงด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ นั่นเป็นเพราะตับโตขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการอาเจียนร่วมด้วย และมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาการเหล่านี้ถ้ามาพบแพทย์ได้ทัน จะคาดการณ์ได้ว่าลูกของคุณมีกลุ่มอาการตรงกับไข้เลือดออก ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจสอบต่อไป
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ พยายามอย่าให้ยุงกัดและอย่าให้ยุงเกิด ด้วยการจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และอย่ารอให้เกิดอาการที่รุนแรงแล้วจึงมาพบแพทย์ เช่น มีไข้สูง ช็อค หรือมีปัญหาเลือดออกง่าย ต้องรีบพาลูกมาพบแพทย์ทันที (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้ https://www.tigerdragon.in.th/?p=775)

 

โรคอีสุกอีใส หลายครอบครัวคงคุ้นเคยกับโรคนี้กันดี เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นกันบ่อย แต่มักจะเป็นในบางช่วง เมื่อเป็นแล้วมักจะติดกันเป็นทอดๆ โดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน กลุ่มอาการของโรค ได้แก่ ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้องแล้วลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ดและแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์        คุณพ่อคุณแม่จึงควรพยายามดูแลรักษาร่างกายของคุณลูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะโรคนี้เกิดขึ้นไม่ตรงตามวัย บางรายอาจมีอาการตอนเด็ก บางรายอาจมีอาการตอนโต ซึ่งหากเป็นในตอนโตจะมีอาการและการขึ้นตุ่มที่รุนแรงกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของร่างกายด้วย ในการป้องกันนั้นทำได้โดยพยายามอย่าให้ลูกเข้าใกล้กับผู้ป่วย หรือล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และจะกระตุ้นอีกครั้งในตอนอายุ 4 ขวบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัคซีนเสริม ยังไม่ได้กำหนดเป็นมาตรฐานสำหรับเด็กทุกคนที่จะต้องฉีด
โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง โรคท้องเสียเกิดขึ้นเพราะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจเรื่องของสุขอนามัย จึงมักนำของเล่นหรือของใช้ที่มีเชื้อนี้เข้าปากโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจะถูกขับออกทางอุจจาระของผู้ป่วย เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าในเด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบ แทบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว อาการส่วนใหญ่จะพบว่ามีอาการท้องเสีย อาเจียน บางรายอาจจะมีไข้สูง กินอาหารได้น้อยลง งอแง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นเด็กทารกควรให้กินนมแม่จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง และดูแลสุขลักษณะการกิน การเล่นให้เหมาะสม ควรจะต้องสะอาดและปลอดภัย ขณะเดียวกันไม่ควรพาเด็กเข้าเนอสเซอรี่เร็วเกินไป เพราะเด็กที่อยู่ด้วยกันเยอะๆ การแพร่กระจายของเชื้อจะมีได้ง่าย
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้ทั้งหมด 2 ชนิด คือ วัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อโรต้าไวรัส 1 สายพันธุ์ และ 5 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดรับประทาน (หยอด) ที่มีข้อมูลความปลอดภัยและสามารถเริ่มให้กับทารกอายุตั้งแต่ 6-12 สัปดาห์ การที่ต้องเริ่มให้ในช่วงอายุดังกล่าวนั้น เป็นเพราะในช่วงสัปดาห์แรกๆ เด็กทารกจะยังได้รับภูมิคุ้มกันที่สร้างจากรกและการกินนมแม่ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรต้าไวรัสจึงควรเริ่มต้นในเด็กทารกช่วงอายุประมาณ 2 เดือน ซึ่งเด็กอาจจะเริ่มมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่รอบๆ ตัวแล้ว
จากข้อมูลที่ได้รวบรวมมาข้างต้น จะพบว่าการดูแลรักษาสุขภาพของลูกน้อยไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยที่ดีที่สุด คือ การป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินหรือสุขลักษณะของข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่รอบๆ ตัว เพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงมีโอกาสที่จะป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

 

ทั้งนี้สุขภาพที่ดีของคุณลูก ก็ต้องมาจากสุขภาพที่ดีของคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน  สุดท้ายนี้ ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านและลูกน้อยทุกๆ คนมีสุขภาพดีตลอดหน้าฝนนะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Fascino

 

อาหารแสลง ที่ควรเลี่ยงเมื่อป่วย

อาหารแสลงโรคเบาหวาน

ขวดพลาสติก BPA..เสื่ยงสมองเสื่อม

การกินดื่มที่ถูกต้องก่อนออกกำลังกาย

 

 

2 comments to โรคฮิตของเด็กในหน้าฝน