Articles

พังผืดส้นเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis)

 

เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดส้นเท้า มีอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะคือ รู้สึกปวดส้นเท้าใน ๒-๓ ก้าวแรกที่ลุกขึ้นเดินหลังตื่นนอนตอนเช้า และหลังจากเดินต่อไป ๒-๓ นาทีก็จะทุเลาไปเอง บางครั้งอาจรู้สึกปวดเวลาเดินขึ้นบันได ยืนหรือเดินบนปลายเท้า หลังจากยืนนานๆ หรือหลังจากลุขึ้นยืนจากท่านั่ง โรคนี้อาจเป็นเรื้อรัง แต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด

อาการปวดอาจเป็นเพียงเล็กน้อยน่ารำคาญหรือปวดรุนแรงก็ได้

มักจะปวดเพียงข้างเดียว อาการอาจค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย หรือเกิดขึ้นฉับพลันรุนแรงก็ได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะบอกไม่ถูกว่าอะไรเป็นเหตุกระตุ้นให้ปวด เนื่องจากเพราะอาการมักจะเกิดหลังจากการเกิดปัจจัยกระตุ้น (เช่น วิ่งออกกำลังกาย ยืน หรือเดินบนปลายเท้า เปลี่ยนรองเท้าใหม่) ๑๒-๓๖ ชั่วโมงไปแล้ว

ส่วนมากจะเป็นอยู่นาน ๒-๓ เดือน ก็ทุเลาไปเอง บางรายอาจเป็นๆ หายๆ หรือเป็นต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ

 

สาเหตุ

พังผืดที่ส้นเท้าทำหน้าที่คล้ายตัวกันกระแทกของกระดูกเท้า ถ้าหากมีแรงกดดันต่อพังผืดนานๆ หรือซ้ำๆ ก็ทำให้เกิดการอักเสบได้

แรงกดดันอาจเกิดจากการมีน้ำหนักถ่วง (เช่น คนอ้วน ยกของหนัก) หรือเกิดจากการวิ่ง เต้นรำ เดินขึ้น บันได หรือยืนนานๆ

นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อน่องหรือเอ็นร้อยหวายขาดความยืดหยุ่น โครงสร้างเท้าผิดปกติ (ส้นเท้าแบน หรือมีความโค้งสูง) ใช้รองเท้าไม่เหมาะ (เช่น พื้นรองเท้าบาง ส้นสูง ส้นเเข็งขาดความยืดหยุ่น)

โรคนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน (ซึ่งอธิบายสาเหตุไม่ได้) และโรคข้ออักเสบ เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์ พบได้บ่อยขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และมักพบในคนอ้วน นักกีฬา ผู้ที่ทำงานหนักหรือสวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสม

 

อาการปวดบริเวณส้นเท้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่นเช่น

ข้อเท้าอักเสบ มักมีอาการปวดที่ข้อเท้า อาจมีอาการบวมแดงร้อนที่บริเวณข้อเท้าร่วมด้วย

ข้อเท้าแพลง หรือกระดูกส้นเท้าแตก มักมีประวัติเดินเท้าพลิกมาก่อน หากขยับข้อเท้าจะรู้สึกปวดมาก

กระดูกส้นเท้างอก เกิดจากผลึกหินปูนงอกออกมาจากกระดูกส้นเท้า มักจะเจ็บที่ส้นเท้าเวลาเดินลงน้ำหนักทุกครั้งตลอดทั้งวัน

 

การวินัจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นหลัก ได้แก่อาการปวดส้นเท้า ๒-๓ ก้าวแรกที่เดินหลังตื่นนอนตอนเช้า โดยไม่มีบวมแดงร้อนที่ส้นเท้า

ในรายที่เป็นเรื้อรังหรือปวดรุนแรง แพทย์จะทำการเอกซเรย์หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจน

 

การดูแลตนเอง

ถ้ามีอาการปวดส้นเท้า โดยไม่มีอาการข้ออักเสบ หรือข้อบวมแดงร้อน ควรปฏิบัติตัวดังนี้

-หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า และกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดกำเริบ เช่น ยกของหนัก วิ่ง เดิน หรือยืนนานๆ หรือใส่รองเท้าส้นสูง

-ประคบด้วยน้ำเเข็งวันละ ๓-๔ ครั้งๆละ ๑๕-๒๐ นาที

-บริหารส้นเท้า

 

ควรพบแพทย์   ถ้าไม่ทุเลาภายใน ๒ สัปดาห์หรือปวดรุนแรง มีอาการบวมแดงร้อนที่ข้อเท้า หรือโครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น ส้นเท้าแบนหรือมีความโค้งสูง

 

การรักษา

นอกจากแนะนำข้อปฏิบัติตัว (ดังกล่าวไว้ในหัวข้อ “การดูแลตนเอง”) แล้ว แพทย์อาจให้กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) และอาจต้องให้ยาป้องกันโรคกระเพาะ (เช่น ยาเม็ดโอเมพราโซล) กินร่วมด้วยถ้าได้ผลอาจต้องให้นาน ๖-๘ สัปดาห์ หากไม่ได้ผลอาจต้องใช้ยาสตีรอยด์ฉีดเข้าพังผืดส้นเท้า

บางรายอาจต้องทำกายภาพบำบัด หรือใช้อุปกรณ์แก้ไขภาวะผิดปกติของเท้า (เช่น รองเท้า เทปพันเท้า)

บางรายอาจใช้เฝือกใส่เวลาเข้านอนเพื่อยึดกล้ามเนื้อน่องและพังผืดส้นเท้า

ส่วนน้อยที่อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

 

ภาวะแทรกซ้อน

ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากอาการปวดเรื้อรัง ทำให้รู้สึกรำคาญหรือทรมาน

 

ระยะเวลาป่วย

ส่วนมากจะเป็นอยู่นาน ๒-๓ เดือน ก็ทุเลาไปเองบางรายอาจเป็นๆ หายๆ หรือเป็นเรื้อรังอยู่เรื่อยๆ

 

การป้องกันโรค

โรคนี้อาจป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้

-ลดน้ำหนัก (ถ้าน้ำหนักเกิน)

-อย่าเดินเท้าเปล่าบนพื้นที่แข็ง

-เลือกสวมใส่รองเท้าที่พื้นหนาเเต่มีความยืดหยุ่นหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง

-เวลาเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ควรทำการอบอุ่นร่างกายก่อน และอย่าใส่รองเท้ากีฬาที่เสื่อมสาภาพ

-ก่อนลุกจากเตียงหลังตื่นนอน ควรทำการบริหารยืดพังผืดส้นเท้า โดยการจับนิ้วเท้าเหยียดขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

หมอชาวบ้าน

 

Comments are closed.