Articles

ระวังอาหารเป็นพิษช่วงปีใหม่


อาหารเป็นพิษ

 

รมช.สธ. เผยช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นช่วงที่ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับบ้านและมีการเลี้ยงสังสรรค์กันบ่อยในทุกพื้นที่ ขอประชาสัมพันธ์ เตือนประชาชนให้ระวังการเกิดอันตรายจากเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ รวมถึงแนะกินอาหารปรุงสุก สะอาด และวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการ ส่วนพ่อค้าแม่ค้าอย่าหยิบจับอาหารโดยตรงด้วยมือเปล่า และไม่ใช้อุปกรณ์สัมผัสอาหารดิบและสุกร่วมกัน


นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปีจะมีประชาชนจำนวนมากที่ทำงานเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในจังหวัดต่าง ๆ เดินทางกลับภูมิลำเนา ประชาชนจำนวนมากต้องใช้บริการรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและสถานีรถไฟ ในระหว่างรอรถโดยสารจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้าไปรับประทานอาหารในศูนย์อาหารหรือร้านอาหารที่มีอยู่ในทุกสถานีหรือซื้ออาหารไปรับประทานในระหว่างเดินทาง ซึ่งถ้าอาหารนั้นไม่สะอาดมีเชื้อโรคปนเปื้อน ผู้บริโภคอาหารนั้นจะมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ท้องเสีย หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกหรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง


ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ ประจำปี 2555 เพื่อแจ้งเตือนภัยและให้ข้อมูลในการประกอบอาหารหรือเลือกรับประทานอาหารได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการตรวจวิเคราะห์หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในอาหารพร้อมบริโภค รวมจำนวน 76 ตัวอย่าง โดยตรวจหาเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella spp.) เชื้อวิบริโอ คอเลอเรีย (Vibrio cholerae non01/non0139) และเชื้อวิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) ผลการตรวจวิเคราะห์พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ เชื้อซัลโมเนลลา 4 ตัวอย่าง และเชื้อเชื้อวิบริโอ คอเลอเรีย จำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5.3 และ 3.9 ตามลำดับ ส่วนเชื้ออื่นๆ ตรวจไม่พบ


รมช.สาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเรื่องการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารพร้อมบริโภคที่วางจำหน่ายตามสถานที่ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายังมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเชื้อเหล่านี้ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นไข้ บางรายอาจเกิดอาการช็อก หมดสติและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้การรักษาอาการเบื้องต้นทำได้โดยให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือโออาร์เอส เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำของร่างกายเป็นระยะ โดยหลังดื่มแล้ว 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นให้นำส่งโรงพยาบาลทันที


อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดโรคได้ โดยเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออาหารที่มีการอุ่นให้ร้อนเสมอ และบรรจุภาชนะสะอาดมีฝาปิด ขณะเดียวกันผู้ขาย ควรมีการอุ่นอาหารให้ร้อนอยู่เสมอหรืออุ่นทุก 2 ชั่วโมง ไม่หยิบจับอาหารโดยตรงด้วยมือเปล่า ไม่ใช้อุปกรณ์สัมผัสอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน และอาหารที่ปรุงสุกแล้วให้ใส่ในภาชนะมีฝาปิด รวมทั้งแต่งกายสะอาด สวมผ้า/หมวกคลุมผม ใส่ผ้ากันเปื้อนที่สะอาดไม่ไอหรือจามขณะหยิบจับหรือตักอาหาร เท่านี้ผู้ประกอบการจะมีส่วนช่วยลด หรือป้องกันการเปิดโรคอาหารเป็นพิษไปสู่ผู้บริโภคได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

ASTV newspaper 

Comments are closed.