Articles

มะเร็งกล่องเสียง..คุณก็มีโอกาสเป็นได้

 

มะเร็งกล่องเสียง

ชื่อภาษาอังกฤษ  

Laryngeal cancer

สาเหตุ 
ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่และจะพบมากขึ้นในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย
นอกจากนี้ ยังอาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี (human papilloma virus : HPV) การสัมผัสสารใยหิน นิกเกิล ฝุ่นไม้ สี และสารเคมีบางชนิด (เช่น กรดกำมะถัน) การระคายเคืองเรื้อรังจากโรคกรดไหลย้อน ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ภาวะขาดสารอาหารซึ่งมักพบร่วมกับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด

อาการ 
ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเสียงแหบติดต่อกันนานเกิน ๓ สัปดาห์ โดยไม่มีอาการเจ็บคอหรือเป็นไข้
บางครั้งอาจมีอาการกลืนลำบากหรือสำลักร่วมด้วย ระยะต่อมาอาจพบมีเลือดออกปนกับเสมหะ หายใจลำบาก มีก้อนแข็ง (ต่อมน้ำเหลืองโต มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน ๑ ซม.) ที่ข้างคอข้างหนึ่ง

การแยกโรค
อาการเสียงแหบ อาจเกิดจากความผิดปกติของกล่องเสียงด้วยสาเหตุอื่น เช่น
•    กล่องเสียงอักเสบ (laryngitis) จากการติดเชื้อ มักมีอาการไข้หวัด เจ็บคอ ไอร่วมกับอาการเสียงแหบ ซึ่งมักจะหายได้ภายใน ๑-๒ สัปดาห์
•    กล่องเสียงอักเสบ จากการระคายเคือง เช่น การใช้เสียงมาก (เช่น ร้องเพลง สอนหนังสือ บรรยาย เทศนา) การสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ เวลาหยุดใช้เสียงหรือหยุดเสพบุหรี่หรือสุรา อาการเสียงแหบจะดีขึ้นได้เอง
•    โรคกรดไหลย้อน มักมีอาการเสียงแหบช่วงหลังตื่นนอน ตอนสายๆ ก็จะทุเลา ซึ่งจะเป็นทุกวันติดต่อกันเป็นแรมเดือน จนกว่าจะได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการแสบท้อง เรอเปรี้ยวขึ้นลำคอร่วมด้วย แม้จะเป็นเรื้อรังแต่ก็มักจะไม่มีอาการเลือดออกปนเสมหะ หรือมีก้อนแข็งข้างคอตามมา
•    ติ่งเนื้อหรือปุ่มเนื้อที่สายเสียง ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง อาจหายได้เองหรือรักษาด้วยการตัดออก ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบเรื้อรัง เกิน ๓ สัปดาห์ขึ้นไป คล้ายกับมะเร็งกล่องเสียง
•    ภาวะขาดไทรอยด์ (hypothyroidism) ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบ ร่วมกับอาการหน้าและหนังตาบวมฉุ ผมบางและหยาบ ผิวหนังหยาบแห้งและเย็น ทำอะไรเชื่องช้า คิดช้า เฉื่อยเนือย รู้สึกขี้หนาว ท้องผูก

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยมะเร็งกล่องเสียงเบื้องต้นโดยการใช้กระจกส่องคอตรวจพบเนื้องอกที่กล่องเสียง แล้วใช้กล้องตรวจส่องกล่องเสียง (laryngoscopy) และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์พบว่าเป็นเซลล์มะเร็ง

การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีอาการเสียงแหบ ถ้าพักเสียง หยุดสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา หรือให้การรักษาอาการไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ที่มีร่วมด้วย หากอาการเสียงแหบไม่ทุเลาภายใน ๑ สัปดาห์ หรือมีอาการเสียงแหบต่อเนื่องทุกวันนานเกิน ๓ สัปดาห์ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุจากโรคไม่ร้ายแรง (เช่น เนื้องอกธรรมดา โรคกรดไหลย้อน) ส่วนน้อยที่อาจเป็นมะเร็งกล่องเสียง

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง ผู้ป่วยควรรักษาและฝึกพูดตามคำแนะนำของแพทย์
ปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ จะมีสมาคม/ชมรมผู้ไร้กล่องเสียง ที่ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด โดยให้ผู้ป่วยดูแลช่วยเหลือกัน ทั้งด้านกำลังใจ การดูแลสุขภาพ และการฝึกพูด

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกล่องเสียงใหม่ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกผ่าตัดกล่องเสียง พูดไม่ได้ สื่อสารลำบาก มักเสียกำลังใจ และรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ญาติๆ ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคม/ชมรมดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ รู้จักดูแลตนเอง จนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

การรักษา 
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง แพทย์จะให้การรักษาตามแนวทางดังนี้
•    ถ้าเป็นระยะแรกเริ่ม จะรักษาโดยการฉายรังสีเป็นหลัก หรือผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ ทำให้รักษากล่องเสียงไว้ได้ และผู้ป่วยสามารถพูดได้เป็นปกติ
•    ถ้าเป็นระยะลุกลาม ก็จะรักษาด้วยการผ่าตัดกล่องเสียงร่วมกับการฉายรังสี บางรายอาจใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย ผู้ป่วยจะพูดไม่ได้เป็นปกติ และต้องฝึกพูดด้วยการเปล่งเสียงผ่านหลอดอาหาร (esophageal speech) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด (electrolarynx)

ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยทิ้งไว้ มะเร็งจะลุกลามไปยังบริเวณรอบข้าง ทำให้กลืนลำบาก หายใจลำบาก ระยะท้ายมะเร็งจะลุกลามเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ที่พบบ่อยคือปอด ตับ และกระดูก

การดำเนินโรค
หากไม่ได้รับการรักษา มะเร็งก็มักจะลุกลามแพร่กระจาย จนทำให้เสียชีวิตได้
แต่หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถช่วยให้หายขาด และพูดได้เป็นปกติ
ในรายที่เป็นระยะลุกลาม และได้รับการผ่าตัดกล่องเสียง ก็มักจะมีชีวิตยืนยาว และสามารถฝึกพูดจนสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้

การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารใยหิน นิกเกิล ฝุ่นไม้ กรดกำมะถัน
3. หากเป็นโรคกรดไหลย้อน ควรรับการรักษาอย่างจริงจัง
4.  กินผักและผลไม้ให้มากๆ และได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและสมดุล

ความบ่อยในการเกิดขึ้น
มะเร็งกล่องเสียงพบได้ประมาณร้อยละ 3 ของมะเร็งทั้งหมด พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า และพบบ่อยในผู้สูงอายุที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน โดยเฉลี่ยอายุผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 60-70 ปี

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หมอชาวบ้าน

Comments are closed.